Saturday, July 27, 2013

เปิดบล็อก ธรรมะ เพื่อเผยแผ่ ธรรมะอันงดงามของพระพุทธเจ้า เพียงเราใส่ใจ เราประพฤติตามได้

สวัสดีครับ

    ตัวผมเองเขียนบล็อก แบบเอาจริงเอาจังไว้หลายหลัง แต่ล้วนเป็นเรื่องทางโลก ผมชอบอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ โดยเฉพาะ หัวข้อใหม่ๆ แปลกตา แปลกใจ จะชอบดูมาก ดูแล้วก็จะคิดต่อ มีจิตนาการมากมายมาตั้งแต่เด็ก ด้วยการอ่านมาก ดูมาก รู้มาก ทำให้ พออายุมาถึงราวๆ 30 ก็เริ่มเบื่อ การบริโภคสื่อพวกนี้ เพราะ เริ่มเห็นว่า ไม่มีอะไรใหม่ ที่เป็นของแปลกอีกต่อไป

    จนเริ่มมาเป็นแฟนรายการ ซีรี่ ต่างๆ ของต่างประเทศ เพราะการสร้าง เนื้อหา มีหลากหลาย และ ลงลึกมากกว่า งานของคนไทย ก็สนุกอยู่พักหนึ่ง จากช่องดาวเทียมต่างๆ ได้ความรู้มาก แต่ไม่ได้ความสงบทางใจ นัก

    ในขณะเดียวกัน ก็ได้อ่านแนวคิดต่างๆ ของปราชญ์ตะวันออก อย่าง ท่านขงจื่อ เป็นต้น ก็สนุก กับการอ่านเนื้อหา และนำมาปฏิบัติอย่างเห็นผลในชีวิต แต่ด้วย ความเป็น อนิจจัง ได้พบว่า สำเร็จได้ ก็ ล้มเหลวได้ และพบว่า แนวคิดจะดีเพียงใด ถ้าปัจจัยภายนอก มีผลกับเราได้ นั่นไม่ใช่ เสรีภาพ ที่แท้

    จนได้มีโอกาสกลับมาอ่านหนังสือ เรียกว่า สวดมนต์ ไหว้พระจะตรงกว่า ก็พบว่า การสวดมนต์แปล จากหนังสือสวดมนต์เล่มเก่า ทำให้ ผมได้พบว่า เสรีภาพของคนเรา ย่อมต้องอยู่ที่นี่ นั่นคือ ตัวเรา นั่นเอง เมื่อใจอยู่ใน สัมมาทิฏฐิ เมื่อนั้น เราจะพบ สุข และ เสรีภาพ

   คนเราเรียนรู้มาตั้งแต่จำความได้ว่า เราต้องการสุข เราต้องการสุข เราต้องการสุข สิ่งแวดล้อม โรงเรียน สังคม ที่ทำงาน สอนเราว่า เราต้องการสุข เราต้องสร้างสิ่งที่อำนวยความสุขให้กับเรา นี่เป็นธรรมชาติ ของ ปุถุชน ผมก็ยึดตามนี้

   แต่เมื่อได้มาสวดมนต์ ผมพบข้อความ อย่างเช่น คนเรานั้น ย่อมต้องพบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจ และ การพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ สวดไปก็คิดไป เออ พุทธศาสนา เป็นศาสนา ที่ เตือนให้คน ฉุกคิดว่า อย่าหลอกตัวเอง ว่า จะได้สิ่งที่พอใจ อย่างเดียว ถูกไหมครับ?

   ผมว่า เป็นศาสนาที่ แฟร์ๆ คือ คุณเกิดมา ต้องย่อมยอมรับว่า มีทั้งเรื่องที่คุณพอใจ และ ที่คุณไม่พอใจ และ คุณจะจัดการกับมันอย่างไร พุทธศาสนาก็มีสอนไว้ เพียงแต่เรา ได้ใส่ใจ จะศึกษา พุทธศาสนาแล้วหรือยัง

    อีกข้อ เมื่อผมได้สวดมนต์ต่อไปยังบทอื่นๆ เช่น มรรค มี องค์ 8 ในข้อ ความเพียรชอบ ข้อที่ 6. ก็พบว่าชีวิตส่วนมากของผมในหลายปีมานี้ มันยังวุ่นๆ ไม่เลิก ก็เพราะผม พลาดข้อนี้ไปมาก ๆ เพราะ ข้อความเพียรชอบ นี้ ได้ระบุ โดยมีใจความโดยย่อเอาไว้ว่า

       สิ่งที่เป็นอกุศล ที่ยังไม่เกิด อย่าให้เกิด
       สิ่งที่เป็นอกุศล ที่เกิดมาแล้ว ให้ลดละเลิก
       สิ่งที่เป็น กุศล ที่ยังไม่เกิด ให้ทำให้เกิด
       สิ่งที่เป็น กุศล ที่เกิดแล้ว ให้ประคองรักษา ให้สร้างความเพิ่มพูน ให้มีมากขึ้น     เป็นต้น

   ผมไม่ต้องให้ใครมาชี้ครับ ผมอายุ 40 ผมชี้ได้เองว่า ปัญหา ความไม่ลงตัว ในชีวิต เป็น
"เรานี่ล่ะ ทำตัวเอง"

    เพียงมรรค 1 ข้อ ผมเห็นชีวิตผมทั้งชีวิต คุณคิดว่า มรรค อีก 7 ข้อ จะช่วยคุณได้อีกมากเพียงไหน?

    การสวดมนต์แปลของผม ยังทำให้ผมเห็นว่า พุทธศาสนา เป็น ศาสนาของความตรงไปตรงมา เข้าใจได้ไม่ยาก เพียงแต่เราอย่าลืมแก่นแท้ ความหมาย เราจะสนุก มีสุขในการเรียนรู้ พุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เช่นว่า  เราสวดบูชาพระรัตนตรัย หรือ บทอื่น จะมีบอกไว้เสร็จว่า คนที่เราบูชานั้น ต้องมี มาตรฐานอย่างไร คือ สวดอยู่ ก็ไม่ได้กลายเป็นคนโง่ มีอวิชชา ที่จะ ไหว้ นบนอบดะ ไปหมด ไม่มีในพระพุทธศาสนานะครับ ดังตัวอย่างการสวดบูชา พระสงฆ์ ในข้อ สังฆาภิถุติ นั้น จะมีเนื้อหาดังนี้ ว่า

    ตัวเราจะบูชาอย่างยิ่ง เฉพาะพระสงฆ์หมู่นั้น โดยนอบน้อมด้วยเศียรเกล้า อย่างซาบซึ้ง ก็ต่อเมื่อพระสงฆ์หมู่นั้น มีคุณอันประกอบด้วย สิ่งต่างๆ ดังนี้ คือ

   1. ต้องปฏิบัติดี
   2. ต้องปฏิบัติตรง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
   3. ต้องปฏิบัติเพื่อรู้ธรรม เป็นเครื่องออกจากทุกข์
   4. ต้องปฏิบัติอย่างสมควร เหมาะสม

   ซึ่่งหากสงฆ์ใด ทำได้ตามข้างต้น พวกท่านก็น่าจะเป็น สงฆ์ในหมู่ บุรุษ 4 คู่ คือ

   มี โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล
   มี สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล
   มี อนาคามิมรรค อนาคามิผล
   มี อรหัตตมรรค อรหัตตผล

  ตัวข้าพเจ้า ผู้บูชา จึงจะบูชาอย่างยิ่งตามที่กำลังสวดมนต์อยู่นี้

  แต่ปัจจุบัน จะมีกี่คนที่สังเกตุสิ่งเหล่านี้ แม้กระทั่งคนที่สวดมนต์แปล ก็อ่านผ่านๆ มิได้ประติดประต่อเชื่อมโยง แก่นแท้ข้อนี้

   ดังนั้นพบญาติโยม ที่คิดมาก ไม่อยากไปวัด กลัวไปไหว้ดะ พระดีๆ หายากบ้างล่ะ บอกเขาว่า อ่านบทความนี้ครับ บทสวดมนต์ ได้กำกับไว้แล้วว่า เรากำลังสวด กำลังไหว้ นบน้อม เฉพาะพระที่ตรงตามมาตรฐานข้างต้นเท่านั้น ซึ่ง หากทั้งวัดเหลืออยู่ รูปเดียว ก็สุดคุ้มครับ อย่าไปคิดมาก ทำไมจึงว่าสุดคุ้ม
นั่นเำพราะ พระท่านว่าไว้ ดังนี้

   "..อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ.." อันแปลได้ว่า พระสงฆ์ ตามมาตรฐาน โดยสรุป ข้างต้นนั้น คือ เนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า นั่นเองครับ

    ลองเปรียบเทียบสิครับ เราจะปลูกข้าวโพดสัก 10 ไร่ ยังไงต้องมีถางรกถางพง ได้พื้นที่พร้อมทำไร่ข้าวโพด เห็นอยู่ตรงหน้า กลับบอกว่า รอบๆ มีแต่รกแต่พง อย่าไปปลูกข้าวโพดมันเลย ขณะที่มี ที่ดินสวยๆ 10 ไร่ ตั้งอยู่ตรงหน้า แบบนี้เรียกว่า มีปัญญาหรือไม่?

   ปัจจุบัน แนวคิดคล้ายๆ นี้ ยังนำมาใช้ในระบบประกันคุณภาพ(QA) อีกด้วย ที่เราเรียกกันว่า เกณฑ์มาตรฐาน นั่นเอง หากไม่เข้าเกณฑ์ คุณจะมามั่วว่า ดี หรือ ผ่านไม่ได้นะ แบบนี้ หารู้ไม่ มีอยู่ในพุทธศาสนา มาเป็นพันๆ ปีแล้วล่ะลุง

  พบกันใหม่ครับ ไว้จะนำเกร็ดความรู้ดีๆ จากการทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น มาเล่าให้ท่านทั้งหลายฟังกันต่อไป

สวัสดีครับ
คุณบอลล์ :0)

เวลาในประเทศไทย
วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
เวลา ประมาณ 10.58 น. (เช้า)